วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย จากด้านหน้าของวัดสามารถเห็นพระประธานและเจดีย์ประธานของวัดได้อย่างชัดเจน สะท้อนถึงความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรสุโขทัยในอดีต เมื่อเดินเข้ามาทางด้านในของวัด จะผ่านเสาต้นใหญ่ที่เรียงรายกันอยู่สองข้าง ซึ่งเป็นเสาของวิหารสูงที่หลงเหลืออยู่ หากดูตามขนาดของเสาแล้ว พระวิหารคงจะมีขนาดที่ใหญ่มากทีเดียว
ถัดจากพระวิหารไปจะเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ด้านหลังเป็นพระวิหารหลวงซึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พระนามว่า พระศรีศากยมุนี ซึ่งปัจจุบันได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดสุทัศน์ ด้านหลังพระวิหารเป็นที่ตั้งเจดีย์ประธานของวัด เป็นการสร้างในแบบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมสมัยสุโขทัย เป็นศิลปกรรมแบบไทยแท้ ไม่เหมือนเจดีย์อื่นใด ไม่ได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมอื่นมาแต่อย่างใด และเชื่อว่าด้านในเจดีย์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ถัดออกไปเป็นพระวิหารขนาดเล็กประดิษฐานพุทธะรูปประทับยืน ความสูง 18 ศอก พระนามว่า “พระอัฏฐารส” พระพุทธรูปที่สะท้อนถึงความสามารถและภูมิปัญญาของชาวสุโขทัยที่จินตนาการและสร้างพระพุทธรูปขนาดสูงใหญ่แบบนี้ได้ ในบริเวณวัดยังมีบ่อน้ำขนาดใหญ่อยู่หลายบ่อ ซึ่งในอดีตเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อเอาไว้ใช้ภายในอาณาจักร สะท้อนเห็นภาพสวยงามของพระวิหารหลวง พระพุทธรูป และเจดีย์ประธานของวัดผ่านผืนน้ำ เมื่อใกล้เวลายามเย็นแสงอาทิตย์จะตกด้านหลังวัดมหาธาตุ เป็นภาพที่สวยงามที่ดูแปลกแตกต่างออกไป
มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นเจดีย์ประธาน ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่เป็นแบบของสุโขทัย พระเจดีย์แบบนี้มียอดเป็นรูปดอกบัวตูม หรือเรียกกันว่า ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงทนาฬ ตั้งอยู่เหนือเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ ที่เรือนธาตุลางองค์มีการจัดซุ้มพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 ทิศ เช่น ที่เจดีย์วัดตระพังเงิน เมืองสุโขทัย พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูมมีรูปทรงสูงเด่นสง่างาม ฐานชั้นล่างมีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกัน 3 หรือ 4 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานแว่นฟ้าซ้อนกันค่อนข้างสูงรองรับเรือนธาตุ
วัดมหาธาตุตั้งอยู่กลางเมือง เป็นวัดใหญ่ และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน จากการสำรวจ พบว่าบริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์แบบต่าง ๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ที่ด้านเหนือ และด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า พระอัฏฐารศ
ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้บรรยายว่า…กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธอันใหญ่ มีพระพุทธอันราม… พระพุทธรูปทองเข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงหลวงพ่อโตของชาวเมืองเก่า เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ที่ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญโดยล่องแพไปไว้ที่ วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามว่า พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปนี้น่าจะเป็นพระพุทธรูปสำริดที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อันเป็นแบบที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุสุโขทัยจึงยังปรากฏแท่นฐานขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปองค์นี้เหลือให้เห็น
วัดมหาธาตุ เป็นวัดหนึ่งที่อยู่ในเขตเมืองสุโขทัยมาตั้งแต่โบราณ และเป็นวัดประจำอาณาจักรสุโขทัย ปัจจุบันนี้วัดมหาธาตุตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้ชื่อว่าเป็นวัดใหญ่ใจกลางเมืองสุโขทัย พื้นที่โดยรวมมีรั้วรอบขอบชิด ได้พบหลักฐานจารึกลานทองมีข้อความระบุเป็นที่น่าเชื่อว่าเจดีย์ห้ายอดนี้ เป็นที่บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท
เกี่ยวกับศิลปกรรมสุโขทัย
ประติมากรรมไทยส่วนใหญ่ สร้างด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนา ประติมากรรมไทยแบ่งได้เป็นสาม ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
ลักษณะนูนต่ำ (Bas Relief) คือผลงานที่มองได้ด้านเดียว แสดงความตื้นลึกของภาพ โดยมีความสูงต่ำ เพียงเล็กน้อย เช่น ลวดลายปูนปั้นบนสถูป และลายแกะสลักต่าง ๆ เป็นต้น
ลักษณะนูนสูง (High Relief) สามารถมองเห็นได้ 3 ด้าน คือด้านหน้า และด้านข้างอีก ๒ ด้าน โดยมีความตื้นลึกที่แตกต่างกันมาก จนเห็นได้ชัดเจน เช่น ลายปูนปั้นบนหน้าบัน
ลักษณะลอยตัว (Round Relief) สามารถมองเห็นได้รอบด้าน เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ต่าง ๆ รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาด้วย
ประติมากรรมสมัยสุโขทัย เริ่มตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ. 1800-1918 เมืองสำคัญทางศิลปะสมัยสุโขทัยมีเมืองสุโขทัยเก่า กำแพงเพชร และศรีสัชนาลัย ปรากฏโบราณสถานใหญ่โต มีศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก ชาวสุโขทัยนับถือพุทธศาสนายุคแรกตามแบบสมัยลพบุรี คือ พุทธศาสนาแบบมหายาน ภายหลังพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แพร่ขยายเข้ามาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง วัสดุที่นำมาสร้างประติมากรรมมี ปูนเพชร ดินเผา ไม้ โลหะสำริด และทองคำ
แบบอย่างของประติมากรรมสมัยสุโขทัยแบ่งเป็น 4 ยุค คือ
ยุคที่ 1 ประติมากรรมยุคนี้ยังแสดงอิทธิพลของศิลปะลพบุรีที่เห็นได้ชัด คือ ภาพปูนปั้นลวดลายประดับประตูรั้วทางเข้าองค์ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ การสร้างพระพุทธรูปในยุคนี้มีแบบเฉพาะเป็นของตนเองที่เรียกกันว่า “แบบวัดตระกวน” เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมผสานกัน พระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นแบบลังกา พระวรกายและชายสังฆาฏิสั้นแบบเชียงแสน
ยุคที่ 2 ในยุคนี้ฝีมือการสร้างประติมากรรมเชี่ยวชาญขึ้น พัฒนารูปแบบการสร้างพระพุทธรูปจนก่อเกิดรูปพุทธลักษณะอันงดงามของสกุลช่างสุโขทัย ยังเป็นศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ ในยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูปไว้มากมายตั้งแต่พระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น พระอัฏฐารส พระอัจนะ จนถึงพระบูชาขนาดเล็ก และพระพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปนูนต่ำ นูนสูง ประดับภายในซุ้มมณฑป หรือพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก
ยุคที่ 3 การปั้นพระพุทธรูปยุคนี้พัฒนาไปจากศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ มีความประณีต มีระเบียบ และกฎเกณฑ์มากขึ้น พระรัศมีเป็นเปลวมีขนาดใหญ่ขึ้น พระพักตร์รูปไข่สั้น พระอุณาโลมเป็นตัวอุหงายระหว่างหัวพระขนง พระวรกายมีความอ่อนไหวน้อยลง พระอาการดูนิ่งสงบ พระกรยาว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่เสมอกัน ฝ่าพระบาทเรียบสั้น พระบาทยาว พระพุทธรูปที่สำคัญๆ ในยุคนี้ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระศรีศากยมุนี เป็นต้น
ยุคที่ 4 เป็นยุคที่ประติมากรรมสมัยสุโขทัยถูกกลืนไปกับอิทธิพลของศิลปะสมัยอยุธยา เมื่อราชวงศ์พระร่วงสิ้นสุดลงในพ.ศ. 1981 นับเป็นยุคสุโขทัยเสื่อม แม้มีการสร้างศิลปะในชั้นหลังก็เป็นสกุลศิลปะเล็ก ๆ พระพุทธรูปมีลักษณะกระด้างขึ้นทั้งอิริยาบท และทรวดทรง มักสร้างพระพุทธรูปยืน พระสำคัญในยุคนี้เช่น พระอัฎฐารส วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
นอกจากการสร้างพระพุทธรูปแล้วสมัยสุโขทัยยังนิยมทำภาพปูนปั้นเพื่อประกอบงานสถาปัตยกรรมและงานอื่นๆ จำนวนมาก โดยทำขึ้นหลายรูปแบบทั้งสวยงาม แปลกประหลาดและตลกขบขัน ตัวอย่างลวดลายปูนปั้นที่งดงามมีอยู่มากมาย เช่น
ลายปูนปั้นที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองสุโขทัย เป็นเรื่องพุทธประวัติแสดงปางประสูติ ปรินิพพาน
ลายปูนปั้นที่วัดนางพญา อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นลายดอกไม้
ลายปูนปั้นที่วัดช้างล้อม อำเภอศรีสัชนาลัย ปั้นเป็นรูปช้างรายรอบฐานพระเจดีย์
ลายปูนปั้นที่วัดตระพังทองหลาง เป็นเรื่องพุทธประวัติแสดงปางเสด็จจากดาวดึงส์