วัดสุทัศนเทพวราราม เรียกสั้น ๆ ว่า วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดในพื้นที่พระนครชั้นในเมื่อปี 2350 พระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐาน พระศรีศากยมุนี (พระโต) แต่ทำได้แต่เพียงลงรากฐานเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และได้ทรงจำหลักบานประตูพระวิหาร( ปัจจุบันบานประตูอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร) ด้วยพระองค์เอง แต่สิ้นราชกาลก่อนสร้างแล้วเสร็จ ได้สร้างต่อมาในรัชกาลที่ 3 จนเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า วัดสุทัศน์เทพวราราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า “พระศรีศากยมุนี”, “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” และ “พระพุทธเสรฏฐมุนี” และได้ปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกครั้งในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระศรีศากยมุนี เดิมเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง (ปีครองราชย์ พ.ศ. 1890-1919 ) แห่งสุโขทัยให้หล่อและทำการฉลองในปี พ.ศ. 1904 พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบขนาดหน้าตักกว้าง 6.25 เมตร พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา ครองจีวรห่มเฉียง ชายพระสังฆาฏิยาวลงมาถึงพระนาภี มีปลายเป็นสองแฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้น บั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน พระพักตร์และพระเศียรมีพระรัศมีเป็นเปลวสูง ตั้งอยู่บนพระอุษณีษ์ (กรอบหน้า) รูปมะนาวตัด เส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย พระรูปไข่เกือบกลม พระโขนงโก่งแยกออกจากกัน ระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่นอยู่ พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระหนุกลม ที่พระหัตถ์ปลายนิ้วเสมอกัน 4 นิ้ว
พระวิหารตั้งอยู่บนฐานไพที 2 ชั้นล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วหลังคาไทย 2 ชั้น 1 ลดมีมุขเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลังประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์เสาเหลี่ยมมีบัวหัวเสา ภาพจิตรกรรมในวิหารหลวงในวัดสุทัศน์เป็นงานจิตกรรมฝาผนังอันอลังการ เป็นศิลปะวิจิตรที่รังสรรค์ขึ้นบนผนังตั้งแต่พื้นจรดเพดาน เป็นเรื่องราวประวัติพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ ส่วนเสาสี่เหลี่ยมทั้งแปดต้นเขียนภาพเรื่องไตรภูมิโลก มีภาพจิตรกรรมสีฝุ่น บนกระดาษข่อยบรรจุในกรอบไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาแบบฝรั่งประดับอยู่เหนือช่องประตูหน้าต่าง ช่องละ ๓ ภาพ รวม ๔๘ ภาพ เป็นงานฝีมือชั้นสูงของช่างหลวงในราวสมัยรัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๔
ภาพชุดนี้เป็นภาพชุดจิตรกรรมที่เล่าเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์แบบและมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ตามคติการสร้างเมืองแบบโบราณนั้น รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดสุทัศน์ขึ้นกลางพระนครเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล การออกแบบพระวิหารหลวงจึงจำลองเป็นเขาพระสุเมรุและภาพชุดจิตรกรรมสัตว์หิมพานต์ จึงได้รับการสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับคติความเชื่อดังกล่าว
ภายในวัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี
พระอุโบสถของวัดสุทัศน์ จัดว่าเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีขนาดกว้าง 22.60 เมตร ยาว 72.25 หน้ามุขกระสันกว้าง 14.00 เมตร ยาว 10.40 เมตร พระประธานภายในพระอุโบสถ คือ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทั้งพระอุโบสถและพระประธานนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ผนังด้านในของพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดเจดีย์ รอบ ๆ พระอุโบสถ มีซุ้มเสมา 8 ซุ้ม ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว เป็นใบเสมาคู่ซึ่งทำจากหินอ่อนสีเทา สลักเป็นภาพช้าง 3 เศียร งวงชูดอกบัวตูมเศียรละ 1 ดอก เบื้องบนมีดอกบัวบาน 3 ดอก บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีเกยอยู่ด้านละ 4 เกย ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี เรียกว่า “เกยโปรยทาน”
ผนังด้านในของพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่าง ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดงดงามมาก รอบๆ พระอุโบสถ มีซุ้มเสมา ๘ ซุ้ม ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว เป็นใบเสมาคู่ซึ่งทำจากหินอ่อนสีเทา สลักเป็นภาพช้าง ๓ เศียร งวงชูดอกบัวตูมเศียรละ ๑ ดอก เบื้องบนมีดอกบัวบาน ๓ ดอก บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีเกยอยู่ด้านละ ๔ เกย ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี เรียกว่า เกยโปรยทาน ภาพวาดบนฝาผนังในอุโบสถที่เป็นรูป เปรต ตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่ และมีพระสงฆ์ยืนพิจารณาอยู่ ซึ่งภาพนี้มีชื่อเสียงมากในสมัยอดีต
บริเวณที่ตั้งของวัดสุทัศนเทพวรารามอยู่เกือบกึ่งกลางของกรุงเทพมหานคร เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งที่น่าสนใจ รูปแบบการก่อสร้างของสิ่งก่อสร้างภายในวัด มีทั้งคติธรรม ปริศนาธรรม สัญลักษณ์ที่ต้องขบคิดตีปัญหาให้เข้าใจ การวางผังการก่อสร้าง ก็ทำอย่างเป็นระบบเป็นระเบียบสวยงาม เป็นจุดเด่นและเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง
นอกจากนี้ ภายในวัดสุทัศน์ยังมีสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ
สัตตมหาสถาน แห่งเดียวในกรุงเทพฯ สัตตมหาสถาน หมายถึงสถานที่สำคัญทั้ง 7 เเห่งที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขหลังการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำหรับสัตตมหาสถานที่วัดสุทัศน์นี้แตกต่างจากที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะสร้างในรัชกาลที่ ๓ จึงเป็นศิลปะแบบจีน มีความแปลกและงดงามไปอีกแบบ ซึ่งต้องไปดูด้วยตาตัวเองจึงจะซึมซับความงามและได้บรรยากาศ
วิหารคตหรือระเบียงคตสร้างล้อมรอบพระวิหารเป็นหลังคาทรงไทยโบราณหน้าบันสลักภาพนารายณ์ทรงครุฑผนังภายในเขียนสีลายดอกไม้ร่วงสลับกับนกบินเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นจำนวน 156 องค์
หอระฆัง สร้างอยู่ในเขตสังฆาวาส ก่อด้วยอิฐถือปูนลักษณะเป็นแปดเหลี่ยมตั้งแต่ฐาน แต่พื้นดินขึ้นไปเป็นหน้ากระดานบัวคว่ำท่อนที่ 2 เป็นหน้ากระดานบัวหงาย ผนังคูหาแต่ละมุมก่ออิฐตัน สร้างเป็นซุ้มคูหา ด้านนอก ชั้นที่ 3 เจาะช่องเป็นคูหาเพื่อให้แลเห็นระฆังที่แขวนหลังคา ก่ออิฐถือปูนทำเป็นทรงบัวตูมอ่อน
วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมามาอย่างช้านานและเป็นวัดที่มีความสำคัญของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกวัดหนึ่ง มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเป็นวัดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นวัดที่มีการวางผังได้สัดส่วนงดงามที่สุดถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งควรค่าแก่การศึกษายิ่งนัก